ฎีกา Intrend ep.90 โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับคดีกับจำเลยให้ชำระเงินค่าจดทะเบียนที่จะต้องชำระในการโอน...

Поделиться
HTML-код
  • Опубликовано: 6 сен 2024
  • ฎีกา Intrend ep.90 โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับคดีกับจำเลยให้ชำระเงินค่าจดทะเบียนที่จะต้องชำระในการโอนที่ดินตามคำพิพากษาหรือไม่
    The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม
    Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี
    ที่ปรึกษา : วิญญู พิชัย,สรวิศ ลิมปรังษี,ณัฐสิมา อนันทนุพงศ์
    ในการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษานั้นมีการดำเนินการได้หลายประเภทหลายลักษณะตามแต่หนี้หรือหน้าที่ที่คำพิพากษากำหนด การดำเนินการอย่างหนึ่งที่พบเห็นอยู่เสมอ ๆ คือการที่ให้จำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องไปดำเนินการทางทะเบียนเพื่อเปลี่ยนแปลงทะเบียนนั้นให้รับรองสิทธิของโจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่ในการดำเนินการทางทะเบียนนั้นอาจมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้มีปัญหาของภาระที่จะต้องรับผิดชอบในการจ่ายค่าธรรมเนียมนั้นด้วย ปัญหาที่จะนำมากล่าวถึงในตอนนี้จะเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนเพิกถอนการโอนที่ดินด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย แต่จำเลยไม่ดำเนินการ โจทก์จะขอให้บังคับคดีกับจำเลยเพื่อหาเงินไปชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนดังกล่าวได้หรือไม่
    นายหมีเป็นผู้จัดการมรดกของนายช้าง โดยในบรรดาทายาทของนายช้างนั้นมีนางนกเป็นผู้ทายาทด้วยคนหนึ่ง ต่อมานางนกทราบว่านายหมีได้อาศัยอำนาจที่ตนเองเป็นผู้จัดการมรดกทำการจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมบ้านซึ่งเป็นทรัพย์ในกองมรดกมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองโดยที่ยังไม่ได้มีการตกลงกันในระหว่างทายาทที่จะแบ่งปันที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวให้เป็นของนายหมีแต่อย่างใด นางนกจึงได้ฟ้องนายหมีขอให้จดทะเบียนเพิกถอนการโอนที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าว
    ศาลพิพากษาให้นายหมีดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนการโอนด้วยค่าใช้จ่ายของนายหมีเอง โดยระบุด้วยว่าหากนายหมีไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของนายหมี
    นายหมีไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนเพิกถอนการโอนตามที่ศาลมีคำพิพากษา นางนกจึงต้องการจะบังคับคดี โดยขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี โดยขอให้จำเลยชำระค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนด้วยเป็นเงิน 300,000 บาท
    นายหมีโต้แย้งว่านางนกไม่มีสิทธิขอให้บังคับคดีให้นายหมีชำระเงินจำนวน 300,000 บาทได้เพราะไม่ใช่หนี้ตามที่คำพิพากษาให้นายหมีต้องชำระแก่นางนก การออกหมายบังคับคดีของศาลไม่ถูกต้อง
    ปัญหาประการแรกเกี่ยวกับกรณีนี้คงเป็นเรื่องความชอบด้วยกฎหมายของหมายบังคับคดี ในกรณีนี้เป็นเรื่องที่หนี้หรือหน้าที่ที่จะต้องกระทำตามคำพิพากษาเป็นเรื่องการจดทะเบียนเพิกถอนการโอนที่ดินเพื่อให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นกลับไปตกอยู่ในกองมรดกดังเดิม การดำเนินการตามคำพิพากษาที่ต้องมีการดำเนินการทางทะเบียนลักษณะนี้จึงมักกำหนดไว้ด้วยว่าหากจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาซึ่งจะมีผลทำให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถนำคำพิพากษานั้นไปขอดำเนินการทางทะเบียนได้เองหากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ยอมดำเนินการตามที่ศาลกำหนด
    ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 357 ที่แก้ไขใหม่ได้กำหนดเพิ่มเติมด้วยว่ากรณีที่คำพิพากษากำหนดให้ต้องทำนิติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดที่อาจถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้ แม้ในคำพิพากษาจะไม่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแต่กฎหมายก็เปิดโอกาสให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้เพื่อที่จะทำให้การบังคับคดีทำได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น
    แต่กรณีนี้เนื่องจากศาลได้กำหนดไว้ในคำพิพากษาตั้งแต่แรกแล้วว่าหากนายหมีไม่ไปดำเนินการให้สามารถถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาไว้แต่แรก ดังนั้นหากนายหมีไม่ดำเนินการ นางนกก็สามารถใช้คำพิพากษาไปขอจดทะเบียนได้เอง ทำให้กรณีลักษณะนี้ไม่ใช่กรณีที่ต้องมาขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อที่จะไปดำเนินการทางทะเบียนแต่อย่างใด
    ปัญหาสำคัญประการต่อมาคงเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเกิดจากการจดทะเบียนซึ่งนางนกไปติดต่อมาทราบว่าหากจดทะเบียนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายรวมเป็นเงิน 300,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนสูงมากพอควร จึงเป็นเหตุให้นางนกขอให้มีการบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์นายหมีแล้วนำเงินจากการขายทอดตลาดมาชำระค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนดังกล่าว
    กรณีลักษณะนี้อาจเทียบเคียงได้กับกรณีที่การดำเนินการตามคำพิพากษาอาจให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาดำเนินการแทนลูกหนี้นั้นตามมาตรา 358 ซึ่งหากมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น มาตรา 358 วรรคสอง กำหนดให้ถือว่าค่าใช้จ่ายที่เสียไปนั้นเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่อาจบังคับคดีต่อไปได้
    แต่กรณีดังกล่าวนี้จะต้องเป็นกรณีที่เกิดค่าใช้จ่ายขึ้นและเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ชำระค่าใช้จ่ายนั้นไปก่อนแทนลูกหนี้ตามคำพิพากษาจึงจะทำให้หนี้ค่าใช้จ่ายนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของหนี้ตามคำพิพากษาที่จะสามารถบังคับคดีต่อไปได้ แต่กรณีของนางนกนี้แม้นางนกจะทราบว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนเป็นเงิน 300,000 บาท แต่นางนกยังไม่ได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวไปจริง ๆ จึงทำให้ไม่อาจถือว่าเงินจำนวนนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับคดีกันได้แล้ว แม้ตามคำพิพากษาจะกำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าให้นายหมีเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการจดทะเบียน แต่ความรับผิดชอบดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องชำระให้แก่บุคคลภายนอกซึ่งก็คือพนักงานเจ้าหน้าที่รับจดทะเบียน ไม่ใช่ความรับผิดชอบที่จะต้องชำระเงินดังกล่าวให้แก่นางนกโดยตรง
    ดังนั้น กรณีที่ศาลพิพากษาให้ไปจดทะเบียนโดยกำหนดให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้หากไม่มีการปฏิบัติตามคำพิพากษา หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ปฏิบัติ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถไปขอดำเนินการทางทะเบียนได้โดยไม่ต้องขอหมายบังคับคดีก่อน แต่หากมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียในการจดทะเบียน เจ้าหนี้จะขอบังคับคดีเอาเงินดังกล่าวมาล่วงหน้าก่อนไม่ได้ แต่หากเสียค่าใช้จ่ายไปจะสามารถบังคับคดีเพื่อเอาเงินมาชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ตนได้เสียไปในภายหลังได้
    (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3459/2564)

Комментарии • 4

  • @chanachanaphol9333
    @chanachanaphol9333 Год назад

    ขอบพระคุณมากครับท่านที่นำความรู้ใหม่ๆมาเผยแพร่ มีประโยชน์มากครับ

  • @pookiegoody
    @pookiegoody Год назад

    ดีค่ะ ขอบคุณค่ะ

  • @pawasitti
    @pawasitti Год назад

    ดีมาก

  • @pawasitti
    @pawasitti Год назад

    ทำต่อไปนานๆน้า