วันแรกคนทะลัก 7 หมื่น! งานตลาดนัดกลางคืนไทยในประเทศจีน เวทีเผยแพร่วัฒนธรรมไทยล่าสุด | Thailand China

Поделиться
HTML-код
  • Опубликовано: 6 авг 2024
  • แหล่งการท่องเที่ยวสำคัญอย่างหนึ่งของไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ก็คือตลาดนัดกลางคืน ที่เป็นเหมือนเวที ที่ทำให้การนำเสนอ soft power อย่างอาหารไทย มีชื่อเสียงไปทั่วโลก มากขึ้นไปอีก การผสมผสานของทั้งสองอย่าง จึงทำให้เกิด street food culture วัฒนธรรมอาหารข้างทาง ที่ยากจะหาคนเลียนแบบได้เหมือน เพราะแกนหลักที่สร้างความแตกต่าง ก็คือตัวของอาหารไทยเอง บวกกับสถานที่ตั้งของแต่ละตลาด ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และสะดวกในการเดินทาง จึงไม่น่าแปลกใจว่า ประเทศข้างเคียงอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และอีกหลายประเทศ พยายามจะสร้างสถานที่ท่องเที่ยวในลักษณะนี้ขึ้นมาบ้าง โดยบางประเทศ ยอมรับว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเมืองไทย บางประเทศ ก็พยายามสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาใหม่ เพื่อสร้างจุดขายในด้านการท่องเที่ยว แต่สำหรับกรณีล่าสุด ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ถือว่าเป็นอย่างแรก ที่ชูจุดขายของความเป็นไทย ในการจัดตลาดนัด วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ ไป๋ซาเหมิน บริเวณริมทะเล ในมณฑลไห่หนาน (หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน ที่สามารถดึงดูดผู้เข้าชมในวันแรก ได้ถึงเกือบ 7 หมื่นคน เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จากการรายงานของหนังสือพิมพ์ซินหัว
    ตลาดนัดกลางคืนไป๋ซาเหมิน ได้ถูกแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซนด้วยกัน ได้แก่ โซนอาหาร โซนวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ และโซนบาร์ โดยมีพ่อค้าแม่ค้ามากถึง 700 ราย ซึ่งมาจากไทยเกือบ 200 ราย นำเสนออาหารไทยรสชาติต้นตำรับ สินค้าหัตถกรรม และการรำไทย
    หญิงไทยคนหนึ่ง ที่เปิดร้านขายอาหาร ต้มเล้งแซ่บ เล่าให้ฟังว่า ในวันแรกที่เพิ่งเปิดร้านใหม่ๆ เพียงแค่ชั่วโมงกว่า สินค้าก็ขายหมด โดยตอนนี้ เธอกำลังศึกษาเกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆของตลาด เพื่อเตรียมนำของมาขายเพิ่มขึ้น ในขณะที่โซนวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ มีการแสดงรำไทยบนเวที รวมถึงมีการสาธิตทำงานฝีมือ อย่างการแกะสลักผลไม้และสบู่ ซึ่งดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยว ได้เป็นจำนวนมาก
    ด้าน “กิติศักดิ์ โอสถานันต์กุล” อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยในไทย ได้ผันตัวมาเป็นผู้นำพ่อค้าแม่ค้าจากเชียงใหม่ กรุงเทพฯ และหัวหิน เกือบ 200 ราย มาเปิดร้านขายสินค้า ที่ตลาดนัดแห่งนี้ ที่ซึ่งกิติศักดิ์มองว่า ยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมาก พ่อค้าแม่ค้าชาวไทยส่วนใหญ่ เดินทางมายังไห่โข่ว ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว ด้วยมุมมองเชิงบวกว่า จีนเป็นตลาดขนาดใหญ่มหึมา พวกเขาคาดหวังว่า จะสามารถทำธุรกิจได้ในระยะยาว และแสวงหาโอกาสเพิ่มเติม ทั้งในไห่หนาน รวมถึงเมืองและมณฑลอื่นๆของจีน
    เฝิงเจียเหว่ย หัวหน้าฝ่ายการตลาด ของตลาดนัดไป๋ซาเหมิน กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการจัดตั้งตลาดแห่งนี้ คือการนำเสนอวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เพื่อวางรากฐาน สู่การสร้างพื้นที่รวบรวม วัฒนธรรมนานาชาติในอนาคต
    เหล่าพ่อค้าแม่ค้าจากต่างชาติ ได้รับการอำนวยความสะดวกด้านที่พักอาศัย การขนส่ง คลังสินค้า ห่วงโซ่อุปทาน โลจิสติกส์ รวมถึงความช่วยเหลือจากอาสาสมัคร ที่เป็นนักศึกษาอาเซียน มาช่วยในการสื่อสารด้วย
    จะว่าไปแล้ว ตลาดนัดกลางคืนในจีน ที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับการมาเดินตลาดในเมืองไทย เกิดขึ้นมานานแล้ว ในเมืองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ที่มีการใส่ความเป็นไทยเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม ราวกับการประกาศว่า เป็นเมืองพี่เมืองน้อง ซึ่งในปัจจุบัน ดูเหมือนจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่แปลกตา และแตกต่างไปจากเมืองอื่นๆของจีน มีการให้เช่าชุดไทยพระราชนิยมใส่ สำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งได้รับความสนใจขึ้นมาก หลังจากที่ลิซ่า Blackpink ได้นำเสนอชุดไทยในมิวสิควิดีโอของเธอ มีการแสดงรำไทย และใช้ตัวอักษรไทย ประกอบฉากบนเวทีการแสดงด้วย นั่นทำให้คนจีน ที่อยากจะรับรู้ถึงวัฒนธรรมของไทย แต่ไม่ต้องการเดินทางออกนอกประเทศ สามารถไปเยี่ยมชมเมืองสิบสองปันนาได้ ถือว่าเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยในทางอ้อม แม้ว่าในมุมมองหนึ่ง ก็เหมือนจะเป็นการแข่งขันในด้านการท่องเที่ยว แต่ด้วยการที่เมืองแสดงออกอย่างชัดเจนถึงศิลปะวัฒนธรรมของไทย โดยไม่ได้แอบอ้าง เหมือนอย่างกัมพูชา ทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นผลดีกับการท่องเที่ยวไทยมากกว่า ว่าถ้าใครอยากจะเห็นต้นฉบับจริง หรืออยากเรียนรู้มากกว่านั้น ก็ควรจะเดินทางมาท่องเที่ยวในเมืองไทย
    การจัดงานตลาดนัดวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ ไป๋ซาเหมิน ถือว่าเป็นการขยายขอบเขต ในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในต่างแดน กล่าวคือ มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อย ที่ยังไม่มีโอกาสได้เดินทางมายังเมืองไทย หรือรับรู้สิ่งต่างๆเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย การบุกไปถึงที่ จึงเป็นเหมือนการขยายขอบเขตการรับรู้ให้มากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้คนกลุ่มนี้ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยได้ในอนาคต และรู้จักศิลปะวัฒนธรรมไทย ในฐานะต้นฉบับ ไม่ได้รับรู้มาจากแหล่งอื่น ที่มีการลอกเลียนแบบอย่างกัมพูชา หรือมีการนำเสนอวัฒนธรรมร่วม อย่างในสิบสองปันนา ซึ่งการจัดงานในรูปแบบนี้ ควรจะมีการส่งเสริมให้มีการจัดขึ้นในทุกปี และครอบคลุมหัวเมืองใหญ่ของจีน อย่างที่ไทยมักจะจัดงานในลักษณะนี้ในประเทศต่างๆ อย่างที่รู้จักกันดี และมีชื่อเสียงที่สุด ก็คืองาน Thai Festival ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์เมืองไทยในหลายมิติ ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม การค้า การท่องเที่ยว ดนตรี และความบันเทิงอื่นๆของไทย
    ที่มา: english.news.cn/
    ติดตามช่องของเราได้ที่นี่ FaceBook / thailand.theworld

Комментарии • 633