ชัวร์ก่อนแชร์ : ขวดน้ำดื่มแช่แข็งมีสารอันตราย จริงหรือ ?

Поделиться
HTML-код
  • Опубликовано: 6 сен 2024
  • บนสังคมออนไลน์แชร์เตือนว่า ห้ามนำขวดน้ำดื่มไปแช่แข็ง เพราะจะมีสารไดออกซินที่เป็นสารพิษออกมาจากพลาสติก เรื่องนี้จริงหรือไม่ ติดตามกับคุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ จากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
    🎯 ตรวจสอบกับ ศ.ดร.ประณัฐ โพธิยะราช
    ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    สัมภาษณ์เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2565
    และ
    ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร
    คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    สัมภาษณ์เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2565
    🔎 ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
    -----------------------------------------------------
    📌 สรุป : ❌ ไม่จริง ไม่ควรแชร์ต่อ ❌
    Q : ขวดน้ำดื่มแช่แข็งช่องฟรีซ มีสารอันตรายออกมาจริงไหม ?
    A : เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่จริง
    สำหรับขวดน้ำพลาสติกโดยทั่วไป
    จะเป็นพาสติกที่เรียกว่า PET หรือว่า
    โพลีเอทิลีนเทอพาทาเลท (Polyethylene terephthalate)
    ขวดน้ำใส ๆ
    ส่วนถุงบรรจุอาหารตอนนี้ก็จะนิยมใช้
    พลาสติกจำพวกโพลีโพรพิลีน หรือว่า PP
    คราวนี้ เจ้าสารที่กำลังอยู่ในความสนใจกัน
    ถ้าเราไปหาข้อมูล เราจะพบว่า
    เจ้าสารเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในพลาสติก ทั้งสองประเภทเลย เพราะฉะนั้น
    ข้อกังวลว่าจะมีสารเหล่านี้ออกมาเจือปน แทบจะตัดไปได้เลย
    Q : ในคลิประบุว่า จะมีสารไดออกซินออกมาปนกับอาหาร ?
    A : ไดออกซิน ก็เป็นสารพิษจริง
    แต่ว่าสารพิษที่เดิมพบในพลาสติกจำพวกที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ
    ที่เรารู้จักกันในชื่อว่า พอลิไวนิลคลอไรด์ Polyvinyl chloride หรือว่า PVC
    ซึ่งเจ้า PVC ตอนหลังก็มีการพัฒนาปรับปรุงให้มีสารเจือปนเหล่านี้น้อยลง
    แต่ว่าเราจะไม่พบสารไดออกซิน
    ในพลาสติกจำพวกที่ไม่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ
    ไม่ว่าจะเป็น PET หรือว่าเป็นพวก โพลีเอทิลีน โพลีโพรพิลีน
    Q : เช่นเดียวกับความเห็นของอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง
    ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ?
    A : ไม่จริง ขวดน้ำที่เป็น PET ไม่มีหลักฐานใด ๆ
    ว่าจะปล่อยไดออกซิน ที่จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์
    เพราะฉะนั้น เขาถึงได้เลือกใช้ PET ในการผลิตขวดน้ำ
    ไม่ว่าจะทำให้อุณหภูมิผิดปกติ
    แช่แข็ง หรือแม้กระทั่งขวดน้ำอยู่ร้อน ๆ อยู่ในรถ
    มันก็ไม่ปล่อยสารอะไรทั้งนั้น
    Q : แล้วที่ในคลิปที่แชร์กันอธิบายว่า
    เมื่อแช่แข็งจะมีสารหลุดออกมา ?
    A : เวลาเราพูดถึงเรื่องกลไกพวกนี้
    มันก็ต้องย้อนไปถึงกลไกทางเทอร์โมไดนามิกส์
    เกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของโมเลกุล
    ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า ยิ่งอุณหภูมิมันเย็น
    การเคลื่อนที่ของสารมันจะเกิดขึ้นยากขึ้น
    เพราะฉะนั้นในภาวะที่มันมีความเย็นจัด ๆ
    ยิ่งจะทำให้การเคลื่อนที่ของสารเกิดขึ้นได้ยาก
    มากกว่าที่อุณหภูมิสูงซะอีก
    Q : รวมทั้งเมื่อละลาย ก็ไม่ได้เป็นดังที่แชร์กัน ?
    A : พิจารณาในเชิงวิชาการ ช่วงที่มันเกิดการละลาย
    ในการเปลี่ยนเฟสของน้ำแข็งไปเป็นน้ำ
    อุณหภูมิไม่ได้เปลี่ยนนะครับ สมมุติถ้าเป็นน้ำ คือ 0 องศาเท่าเดิมเลย
    แต่ว่าจะมีการดูดเอาความร้อน จากภายนอกเข้าไป
    เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนจากน้ำแข็งเป็นน้ำ
    เพราะฉะนั้น ในช่วงที่เกิดการละลาย
    จึงไม่ได้เกิดการคลายความร้อนแบบที่เข้าใจกัน
    Q : รวมทั้งในต่างประเทศ ก็เคยมีการกล่าวถึงเรื่องนี้ ?
    A : จริง ๆ ถ้าเรื่องของการแช่น้ำไว้ในฟรีซ
    หรือว่าการใส่ขวดน้ำไว้ในรถยนต์
    มีการแชร์กันทั้งในไทยและต่างประเทศ
    ในต่างประเทศมีหลายองค์กร ออกมาให้ข้อมูลว่า
    เรื่องที่เป็นความเชื่อนะครับ ไม่มีข้อมูลความเป็นจริง
    Q : ดังนั้น เอาน้ำขวดแช่แข็ง ยังกินได้ใช่ไหม ?
    A : น้ำดื่มที่มีมาตรฐาน การนำไปแช่แล้วก็เอามารับประทานใหม่
    ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพแต่อย่างใดนะครับ
    แต่ว่าข้อพึงระวัง ก็คือว่าถ้าเกิดว่าเป็นการเอาขวดเดิมมาใช้
    แล้วก็เอาน้ำเติมไปเอง ก็ต้องควรมีการล้างทำความสะอาดให้ดี
    ก่อนที่จะเอาน้ำใส่เข้าไป หรือน้ำที่ใส่เข้าไป
    ก็ต้องมีความมั่นใจว่ามีความสะอาดเพียงพอ
    อันนั้นเป็นข้อกังวลที่น่ากังวลมากกว่า
    Q : จริง ๆ แล้ว น้ำดื่มในขวดยังใช้อ้างอิง
    เมื่อตรวจหาสารก่อมะเร็งด้วย ?
    A : ที่จริง น้ำขวดใช้เป็น reference คือใช้เป็นน้ำดื่มอ้างอิง
    เพื่อจะเปรียบเทียบว่า น้ำจากแหล่งต่าง ๆ มันมีมะเร็งมากไหม
    น้ำที่อยู่ในขวดเป็นอะไรที่ก่อมะเร็งน้อยที่สุด
    หรือเกือบใกล้ศูนย์ หรือเป็นมาตรฐาน
    เวลาเขาทำวิจัย เขาต้องเอาอันนี้เป็นตัวเปรียบเทียบว่า
    คนที่ดื่มน้ำจากแหล่งอื่น มีโอกาสเป็นมะเร็งสูงกว่านี้ไหม
    Q : แต่อุณหภูมิที่เย็นจัดก็อาจส่งผลต่อพลาสติก ?
    A : เจ้าขวดน้ำ พออุณหภูมิมันเย็นลง
    การยืดหยุ่นของพลาสติก มันก็ต่ำลงด้วย
    แล้วอย่างที่เราทราบกัน พอน้ำกลายเป็นน้ำแข็งมีการขยายปริมาตร
    มันก็จะไปดันให้ขวดเกิดการแตก
    Q : แล้วจะมีสารอะไรออกมาไหม ?
    A : ตรงนี้ไม่มีสารอะไรออกมาครับ จะเป็นการแตกหักเสียหายทางเชิงกล
    Q : หรือเมื่อร้อนขึ้น ?
    A : ถ้าเอาน้ำร้อนจัด ๆ ไปเทใส่ขวด
    ที่เป็นขวดพลาสติกที่เป็นขวดน้ำดื่ม
    เราจะเห็นว่ามีเปลี่ยนรูปร่าง แล้วก็บิดตัวไปบ้าง
    แต่อันนี้เป็นเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเชิงกล ทางโครงสร้างของมัน
    Q : แนะนำเรื่องการใช้ขวดน้ำซ้ำ ?
    A : การเอาขวดพลาสติกมาใช้งานซ้ำเนี่ยนะครับ มันก็เป็นการลดขยะ
    แต่ว่าเวลาเอามาใช้ ข้อพึงระวังคือ
    จะต้องทำความสะอาดให้เหมาะสม
    ก่อนที่จะเอามาใช้อีกครั้งหนึ่ง
    เพราะฉะนั้น การใช้ซ้ำหลาย ๆ รอบเนี่ย
    สิ่งที่ต้องพึงระวังก็คือรอยขีดข่วนที่พื้นผิว
    ซึ่งมันมีโอกาสให้เชื้อรา หรือเชื้อจุลินทรีย์เข้าไปอยู่และเติบโตได้
    แต่ว่าเขาดีไซน์ให้ใช้ครั้งเดียว เพราะว่าไม่ได้มีข้อพิสูจน์
    ไม่ได้ทดสอบการใช้ซ้ำหลายครั้ง
    ก็เลยไม่สามารถจะเคลมได้ว่า ใช้ซ้ำหลายครั้งแล้วจะปลอดภัย
    แต่เรื่องอุณหภูมิไม่ใช่ประเด็น
    Q : สรุปแล้ว ที่แชร์เตือนว่า
    แช่ขวดน้ำในช่องฟรีซจะมีสารพิษออกมานี่เป็นอย่างไร ?
    A : เรื่องนี้ไม่จริง แล้วก็ไม่ควรแชร์ต่อ
    เพราะว่าการนำเอาขวดพลาสติกบรรจุน้ำไปแช่แข็ง
    จะไม่มีสารไดออกซินออกมา เพราะว่าขวดเหล่านี้
    ไม่มีสารไดออกซิน เป็นองค์ประกอบ
    ประเด็นใหญ่ของคลิปนี้ หรืออะไรก็ตาม
    ที่มีข้อความที่น่าจะไม่ถูกต้องปนอยู่ก็ไม่ควรแชร์
    👉 การเข้าใจผิด อาจนำสู่การระวังผิดจุดได้

Комментарии • 94