AP LAW 64 "ความผิดฐานเบิกความเท็จ คืออะไร"

Поделиться
HTML-код
  • Опубликовано: 14 окт 2024
  • AP LAW 64 "ความผิดฐานเบิกความเท็จ คืออะไร"
    การเบิกความเท็จ คือการที่พยาน หรือคู่ความเบิกความเป็นเท็จในการพิจารณาคดีของศาล โดยข้อความที่เป็นเท็จนั้นจะต้องเป็นข้อความสำคัญในคดีที่ส่งผลแพ้ชนะคดีได้ และการเบิกความเท็จจะต้องมีเจตนาเบิกความเท็จ คือรู้ว่าข้อความที่ตนเบิกความต่อศาลนั้นเป็นเท็จด้วย โดยการเบิกความเท็จนั้นจะอยู่ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177
    .
    แต่อย่างไรก็ตาม การเบิกความเท็จนั้นหากตัวผู้เบิกความนั้นเบิกความเท็จโดยไม่รู้ว่าเป็นความเท็จ เบิกความตามที่ตนเองรู้เห็นจริง ๆ และข้อความที่เป็นเท็จนั้นมิใช่สาระสำคัญที่ส่งผลแพ้ชนะในคดีนั้น ผู้ที่เบิกความก็จะไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ
    .
    การเบิกความเท็จนั้น ตัวผู้เบิกความที่เป็นเท็จจะต้องรู้ว่าข้อความพิพาทที่ตนเองบรรยายในคำเบิกความนั้นเป็นความเท็จ หากตัวผู้เบิกความไม่รู้ถึงข้อความเท็จ ย่อมถือได้ว่าผู้เบิกความกระทำไปโดยเชื่ออย่างสุจริตว่าข้อความดังกล่าวนั้นเป็นจริง ถึงแม้ภายหลังปรากฎความจริงว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความเท็จ ย่อมถือได้ว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีเจตนากระทำผิด และไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญาแต่อย่างใด ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 4784/2529, 771-777/2515
    .
    นอกจากนี้ หากผู้เบิกความได้บิดเบือนข้อเท็จจริง โดยรู้อยู่แล้วว่าความจริงเป็นอย่างไร แต่ก็ยังบิดเบือน ต่อเติม หรือแต่งเรื่องราวอันเป็นเท็จขึ้นมา เพื่อหวังจะชนะคดี ก็ย่อมมีความผิดฐานเบิกความเท็จได้ แต่ถ้าหากผู้เบิกความนั้น เบิกความไปตามความจริงที่ตนเองรู้เห็นจริง ตามที่ประสบเหตุการณ์มา หรือทำไปตามที่ตนเองได้รับข้อมูลมา โดยเชื่อโดยสุจริตว่าจะทำให้ฝ่ายตนเองชนะคดีได้ หรือเชื่อโดยสุจริตว่าฝ่ายตรงข้ามกระทำความผิดอาญา ไปตามจริงเท่าที่ตนรู้เห็น ไม่ได้เสริมเติมแต่งและภายหลัง ปรากฎว่าศาลพิพากษาให้ฝ่ายตนเองแพ้คดี หรือเห็นว่าการกระทำของฝ่ายตรงข้ามไม่เป็นความผิดอาญา หรือไม่เพียงพอที่จะทำให้ชนะคดี ย่อมไม่ถือการให้ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นความผิดอาญาแต่อย่างใด ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1861/2526, 9941/2553 เป็นต้น
    .
    และการพิจารณาการเบิกความเท็จนั้น จะต้องดูข้อเท็จจริงว่าข้อความที่เป็นเท็จนั้น เป็นข้อสำคัญที่ส่งผลแพ้ชนะในคดีหรือไม่ เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือไม่ หากข้อความเท็จนั้นเป็นเพียงข้อความปลีกย่อยที่มิใช่ข้อความสำคัญที่ส่งผลแพ้ชนะต่อคดี หรือมิใช่ข้อความที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ผู้เบิกความก็ย่อมไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ ตามฎีกาที่ 669/2532, 1346/2561
    .
    โดยการเบิกความเท็จนั้น ไม่ว่าจะเบิกความเท็จในคดีแพ่งหรือคดีอาญา ก็มีความผิดตามมาตรานี้ทั้งสิ้น ซึ่งจะแตกต่างจากการฟ้องเท็จที่จะใช้กับคดีอาญาเท่านั้น โดยการเบิกความเท็จจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าหากการเบิกความเท็จนั้นได้กระทำในคดีอาญา ผู้กระทำจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท แต่ถ้าการเบิกความเท็จนั้น เป็นการเบิกความในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ผู้เบิกความจะต้องรับโทษจำคุก ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 140,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 181 (1) และถ้าการเบิกความเท็จนั้นกระทำในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ผู้เบิกความเท็จจะต้องรับโทษจำคุก ตั้งแต่ 1 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 300,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 181 (2) แต่ถ้าผู้เบิกความเท็จนั้นกลับแจ้งข้อความจริงต่อศาลก่อนจบคำเบิกความ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 182 และในกรณีที่ผู้เบิกความได้เบิกความเท็จจนจบคำเบิกความแล้ว และกลับแจ้งความจริงต่อศาลก่อนมีคำพิพากษาหรือก่อนถูกฟ้องคดีเบิกความเท็จ ศาลจะลงโทษเบากว่ากฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 183
    .
    สรุป การเบิกความเท็จ คือ การที่คู่ความหรือพยานเบิกความอันเป็นเท็จต่อศาล โดยข้อความเท็จนั้นต้องเป็นข้อความสำคัญในคดีที่ส่งผลแพ้ชนะ และกระทำด้วยเจตนาเบิกความเท็จ
    เนื้อหาโดย
    กิตตินันท์ จารุกิจไพศาล
    Paralegal
    น.บ. (ธรรมศาสตร์)

Комментарии • 1