วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

Поделиться
HTML-код
  • Опубликовано: 8 сен 2024
  • วัดอรุณราชวราราม เดิมมีชื่อว่า วัดมะกอก ตามชื่อตำบลที่ตั้ง และเปลี่ยนมาเป็น วัดแจ้ง เนื่องจากครั้งที่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ถือเอามงคลอุดมฤกษ์ ครั้งเสด็จกอบกู้อิสรภาพคืนกลับมาเป็นของไทย และทรงเสด็จทางชลมารค ล่องมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงวัดมะกอกในเวลารุ่งแจ้งพอดี จึงเป็นเหตุให้เรียกวัดนี้ว่า วัดแจ้ง ซึ่งในสมัยธนบุรีนี้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดเกล้าให้วัดแจ้งเป็นวัดในเขตพระราชฐาน ตามแบบอย่างพระราชวังสมัยอยุธยาที่มีวัดพระศรีสรรเพชญ์อยู่ในเขตพระราชวัง วัดแจ้งเคยประดิษฐานพระแก้วมรกตก่อนจะอัญเชิญไปประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดารามในสมัยรัชกาลที่ 1
    ในสมัยรัตนโกสินทร์ วัดได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์อย่างต่อเนื่อง โดยในรัชกาลที่ 2 พระองค์ทรงบูรณะวัดแจ้งและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดอรุณราชธาราม และกลายเป็นวัดประจำรัชกาลในพระองค์ พอถึงสมัยรัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ในการสร้างต่อจากพระชนกนาถอย่างเต็มที่ ให้สมกับเป็นพระมหาธาตุประจำพระนคร ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงบูรณะอีกครั้งและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดอรุณราชวราราม ภายในวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญมากมาย
    สิ่งที่โดดเด่นตระการตาที่สุด คือ พระปรางค์ เจดีย์ขนาดใหญ่ซึ่งสร้างแทนเจดีย์องค์เดิม โดยเริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 และแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3 ก่อสร้างโดยช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญ บนพระปรางค์ประดับด้วยเครื่องกระเบื้องเคลือบและเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ที่นำเข้ามาจากจีน ซึ่งมีลวดลายงดงามเป็นของเก่าแก่และหายาก ถือเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความงดงามเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก
    ด้านหน้าของพระปรางค์เป็นที่ตั้งของโบสถ์น้อย ซึ่งเป็นโบสถ์เดิมของวัดตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นที่ประดิษฐพระพุทธรูปเก่าแก่ 29 องค์ พระประธานเป็นพระปูนปั้นปางมารวิชัยลงรักปิดทอง มีพระบรมรูปหล่อของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเครื่องพระมหากษัตริย์ประทับห้อยพระบาทประดิษฐานอยู่ด้วย นอกจากนั้นยังมีพระแท่นที่ประทับแบบจีนซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระแท่นของพระองค์ท่าน
    ใกล้ๆ กับโบสถ์น้อยคือวิหารน้อย สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเช่นเดียวกัน ภายในประดิษฐานพระจุฬามณีเจดีย์ มีเท้าจตุโลกบาลยืนเฝ้าพระเจดีย์ วิหารน้อยแห่งนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตก่อนที่จะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนาศาสดาราม
    สิ่งที่นักท่องเที่ยวคุ้นตาอีกอย่างเมื่อมาที่วัดอรุณ รูปปั้นยักษ์ ๒ ตน ยืนเฝ้าปากประตูซุ้มยอดมงกุฏทางเข้าพระอุโบสถ ถือว่าเป็นทวารบาลทำหน้าที่เป็นเทพรักษาและปกป้องพระพุทธศาสนา ทิศใต้-มีนามว่า สหัสเดชะ มีกายสีขาว และทิศเหนือ-ยักษ์มีนามว่า ทศกัณฐ์ ยักษ์ที่มีกายสีเขียว ยักษ์ ๒ ตน เป็นงานประติมากรรมของเก่ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ นับเป็นยักษ์คู่แรกของประเทศไทย
    เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูยอดมงกุฏแล้วก็จะพบกับพระอุโบสถ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญที่เป็นองค์พระประธาน มีพระนามว่า “พระพุทธธรรมิศรราชโลกธาตุดิลก” หล่อในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศนภาลัย รัชกาลที่ ๒ กล่าวกันว่า พระพักตร์เป็นฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นอกจากนั้นฐานพระพุทธรูปยังเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านอีกด้วย ผนังทั้ง 4 ด้านของพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมที่เป็นฝีมือของช่างในรัชกาลที่3 บางภาพก็เป็นฝีมือซ่อมครั้งรัชกาลที่ 5 ภายหลังที่เกิดเพลิงไหม้ พระอุโบสถวัดนี้ไม่มีกำแพงแก้ว แต่มีพระระเบียงคดมีประตูกึ่งกลางพระระเบียงทั้ง 4 ทิศ พระพุทธรูปในพระระเบียงมีทั้งหมด 120 องค์เลยทีเดียว หน้าพระระเบียงคดโดยรอบมีตุ๊กตาหินแบบจีนเรียงรายกันเป็นแถวจำนวนมาก
    ส่วนพระวิหารนั้นมีพระพุทธรูปที่เป็นพระประธาน พระนามว่า พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร หล่อด้วยทองแดงปิดทอง ในสมัยรัชกาลที่3
    นอกจากที่กล่าวมาแล้วภายในวัดยังมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญอีกหลายแห่ง อาทิ มณฑปพระพุทธบาทจำลอง หอพระไตรปิฎก หอระฆังและหอกังสดาล ศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีน เขามอ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีลักษณะสวยงามและแสดงถึงศิลปะ
    วัดอรุณเป็นวัดที่มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนา มีประเพณีที่งดงามและยิ่งใหญ่ของชาติ เป็นวัดที่ใช้ประกอบพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ซึ่งเป็นราชประเพณีไทยที่มีมาแต่โบราณ

Комментарии • 2

  • @pandadeedee3595
    @pandadeedee3595 Год назад +1

    ทำได้ดีมากครับเอาใจช่วยครับ

  • @johannessburgjohan5056
    @johannessburgjohan5056 Год назад +1

    The Thai architecture is one of the best architectures of the world.
    The video is informative and well-done.