ฎีกา InTrend Ep.175 ทำยอมตาม พรบ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ แล้วจะขอให้ศาลไม่บังคับให้ด้วยเหตุ....

Поделиться
HTML-код
  • Опубликовано: 5 окт 2024
  • ฎีกา InTrend Ep.175 ทำยอมตาม พรบ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ แล้วจะขอให้ศาลไม่บังคับให้ด้วยเหตุมีการข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีอาญาและมีการแจ้งความเท็จต่อผู้ไกล่เกลี่ยได้หรือไม่
    The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม
    Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี
    ที่ปรึกษา : สรวิศ ลิมปรังษี, สุริยัณห์ หงษ์วิไล, ทัสสญุชุ์ กุลสิทธิ์ชัยญา, ณัฐสิมา อนันทนุพงศ์
    Show Creator : ศณิฏา จารุภุมมิก
    Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, รวิภา กิ่งจักร์
    Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
    Coordinator & Admin : โสรัตน์ ไวศยดำรง, สุพัตรา ขำมีศักดิ์, สุภาวัชร์ ดลมินทร์
    Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์, กนกกูล วสยางกูร
    Webmaster : ผุสชา เรืองกูล, วชิระ โรจน์สุธีวัฒน์
    การไกล่เกลี่ยเป็นวิธีการระงับข้อพิพาทที่มีกฎหมายหลายฉบับออกมารองรับและสนับสนุน เพราะจะทำให้ข้อพิพาทยุติไปอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาฟ้องร้องดำเนินคดีกันให้ยุ่งยากและใช้เวลา ในบรรดากฎหมายที่ออกมานั้น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 เป็นฉบับหนึ่งที่กำหนดเรื่องนี้ไว้ เพียงแต่หลักเกณฑ์และกลไกที่กำหนดค่อนข้างต่างจากกฎหมายอื่น ๆ เพราะมีการนำไปเทียบเคียงกับการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จึงทำให้มีข้อโต้แย้งกันในเรื่องการตีความและการบังคับใช้ได้ ปัญหาที่จะนำมากล่าวถึงในตอนนี้จะเป็นกรณีที่คู่พิพาททำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ แล้วจะขอให้ศาลไม่บังคับตามสัญญายอมนั้นโดยอ้างว่ามีการข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีอาญาและมีการแจ้งความอันเป็นเท็จต่อผู้ไกล่เกลี่ยได้หรือไม่
    นายเขียวอ้างว่านายแดงอยู่ในที่ดินที่ตนซื้อมาโดยไม่มีสิทธิ นายแดงก็อ้างว่าตนมีสิทธิอยู่ในที่ดินดังกล่าว เพราะเป็นที่ดินที่พ่อของตนซื้อมาจากเจ้าของเดิมโดยชอบ ทั้งสองคนจึงได้ขอไปที่ที่ว่าการอำเภอเพื่อให้ช่วยไกล่เกลี่ยเรื่องที่เกิดขึ้นให้
    หลังจากที่มีการตั้งผู้ไกล่เกลี่ยมาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเรื่องนี้แล้ว ทั้งสองคนมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นฉบับหนึ่งที่ระบุว่านายแดงและบริวารจะย้ายออกจากที่ดินที่พิพาท
    ต่อมานายแดงไม่ได้ออกจากที่ดินไป นายเขียวจึงไปติดต่อพนักงานอัยการให้ช่วยร้องขอให้บังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว พนักงานอัยการจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้
    นายแดงต่อสู้ว่าก่อนวันที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ นายเขียวให้คนไปข่มขู่ว่าถ้าไม่ตกลง จะดำเนินคดีอาญากับบิดาของนายแดงที่ไปลักทรัพย์ของนายเขียวที่อยู่ในที่ดินดังกล่าว และระหว่างไกล่เกลี่ย นายแดงให้ข้อมูลที่เป็นเท็จแก่ผู้ไกล่เกลี่ยว่านายแดงได้ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่นายเขียวแล้ว
    ในกรณีการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นี้ มาตรา 61/2 ได้ให้นำเรื่องการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งหมายถึงการต้องนำหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาใช้กับกรณีนี้ด้วย
    กรณีที่ศาลจะไม่บังคับให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจะต้องปรากฏว่ามีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ ที่สำคัญคือตามมาตรา 43 และมาตรา 44
    ในประเด็นแรกที่นายแดงอ้างว่ามีการข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีอาญากับบิดาของนายแดงจนเป็นเหตุให้นายแดงตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายเขียวนั้น แม้จะมีการข่มขู่ดังกล่าวจริงก็คงไม่มีผลทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความตกเป็นโมฆียะไป เพราะเป็นการข่มขู่ที่นายเขียวจะใช้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาตามที่ตนมีสิทธิอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย หากบิดาของนายแดงกระทำการตามที่กล่าวหาจริง
    ในส่วนเรื่องของการแจ้งต่อผู้ไกล่เกลี่ยที่นายแดงอ้างว่าเป็นข้อความที่เป็นเท็จว่านายแดงได้ขายที่ดินที่พิพาทให้แก่นายเขียวแล้วนั้น ไม่ใช่เหตุที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฯ กำหนดให้สามารถมาโต้แย้งกันในชั้นศาลได้ เพราะเป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในกระบวนการไกล่เกลี่ย แต่ที่สำคัญคือแม้จะมีการบอกกล่าวข้อความดังกล่ากับผู้ไกล่เกลี่ยก็ไม่ใช่สาระสำคัญอะไร เพราะสุดท้ายการจะตกลงกันหรือไม่ อย่างไรเป็นเรื่องระหว่างนายแดงกับนายเขียว เมื่อนายเขียวตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความเองก็ไม่ได้เป็นผลอะไรจากการบอกกล่าวข้อความนั้นซึ่งก็ยังไม่แน่ด้วยซ้ำว่ามีการบอกกันจริงหรือไม่ จึงไม่ถือเป็นข้อต่อสู้ที่จะยกมาให้ศาลปฏิเสธการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้
    ดังนั้น ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ ผู้ที่ถูกขอให้บังคับตามสัญญาจะอ้างไม่ได้ว่ามีการข่มขู่ว่าจะมีการดำเนินคดีอาญาจนเป็นเหตุให้ตกลงทำสัญญา และการบอกล่าวข้อความใดต่อผู้ไกล่เกลี่ยที่อ้างว่าเป็นความเท็จก็ไม่ใช่เหตุที่จะขอให้ศาลปฏิเสธการบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้
    (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2401/2566)

Комментарии •