ฎีกา InTrend Ep.177 แอบอ้างนอกพื้นที่ศาลว่าจะเอาเงินไปจ่ายผู้พิพากษาเพื่อให้ได้ประกันตัว....

Поделиться
HTML-код
  • Опубликовано: 5 окт 2024
  • ฎีกา InTrend Ep.177 แอบอ้างนอกพื้นที่ศาลว่าจะเอาเงินไปจ่ายผู้พิพากษาเพื่อให้ได้ประกันตัว จะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้หรือไม่
    The Host : กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม
    Guest Host : สรวิศ ลิมปรังษี
    ที่ปรึกษา : สรวิศ ลิมปรังษี, สุริยัณห์ หงษ์วิไล, ทัสสญุชุ์ กุลสิทธิ์ชัยญา, ณัฐสิมา อนันทนุพงศ์
    Show Creator : ศณิฏา จารุภุมมิก
    Episode Producer & Editor : ศณิฏา จารุภุมมิก, รวิภา กิ่งจักร์
    Sound Designer & Engineer : กฤตภาส ทองแจ้ง, กิติชัย โล่สุวรรณ
    Coordinator & Admin : โสรัตน์ ไวศยดำรง, สุพัตรา ขำมีศักดิ์, สุภาวัชร์ ดลมินทร์
    Art Director : สุภาวัชร์ ดลมินทร์, ปันจารีณ์ สุวรรณโภชน์, กนกกูล วสยางกูร
    Webmaster : ผุสชา เรืองกูล, วชิระ โรจน์สุธีวัฒน์
    การประกันตัวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอยู่เสมอในการดำเนินคดีอาญา เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของบุคคล หากไม่ได้มีเหตุจำเป็นพิเศษ ปกติแล้วผู้ต้องหาหรือจำเลยย่อมจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างที่คดีความดำเนินอยู่ แต่หากมีเหตุจำเป็นเช่น จะหลบหนีหรือไปก่ออันตรายอย่างหนึ่งอย่างใดอีกระหว่างที่ถูกปล่อยตัวก็อาจเป็นเหตุที่ต้องขังไว้ แต่ในส่วนญาติพี่น้องหรือคนที่เกี่ยวข้องก็อาจใช้ความพยายามต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว บางครั้งวิธีการที่ใช้อาจเกินเลยไปจนเป็นปัญหาได้ ปัญหาที่จะนำมากล่าวถึงในตอนนี้จะเป็นกรณีที่มีผู้แอบอ้างว่าจะเอาเงินไปจ่ายผู้พิพากษาเพื่อให้ได้ประกันตัว แต่การแอบอ้างนั้นทำนอกพื้นที่ศาล จะถือว่าผู้นั้นมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้หรือไม่
    นายดำถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับในข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติดโดยมีปริมาณยาเสพติดของกลางที่ถูกยึดไว้เป็นจำนวนมาก เจ้าพนักงานตำรวจจึงนำตัวนายดำมาฝากขังที่ศาลแห่งหนึ่ง ศาลมีคำสั่งให้ขังนายดำไว้ระหว่างการสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจ
    นางแดงซึ่งเป็นภรรยาของนายดำได้ยื่นขอประกันตัวนายดำต่อศาล แต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว แม้จะมีการอุทธรณ์คำสั่งของศาลไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ยังไม่อนุญาตให้ประกันตัวไป
    นายเขียวรู้เรื่องที่เกิดขึ้นจึงได้ไปพบนางแดงที่บ้านของนางแดง บอกว่าตนเองรู้จักกับผู้พิพากษาในศาลแห่งนั้น สามารถช่วยให้นายดำได้รับการประกันตัวได้ นางแดงตกลงจ้างนายเขียวให้ดำเนินการให้ โดยตกลงให้ค่าจ้างเป็นเงิน 40,000 บาท แต่เมื่อมีการยื่นขอประกันตัวใหม่ ศาลก็ยังไม่อนุญาตให้ประกันตัวนายดำเหมือนเดิม
    นายเขียวจึงไปพบกับนางแดงที่บ้านของนางแดงใหม่ บอกว่าเรื่องเกี่ยวกับศาลอุทธรณ์ภาค 4 ด้วย จำเป็นต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อนำไปให้ผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ด้วย จึงขอเงินค่าดำเนินการเพิ่มอีก 300,000 บาท นางแดงหลงเชื่อจึงโอนเงินจำนวนสามแสนบาทให้แก่นายเขียวไป แต่เมื่อมีการยื่นขอประกันตัว ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ยังยืนยันเหมือนเดิมที่จะไม่อนุญาตให้ประกันตัวนายดำไป
    นางแดงจึงรู้ว่าตนถูกนายเขียวหลอก จึงได้ไปร้องเรียนที่ศาล จนมีการไต่สวนเรื่องที่เกิดขึ้น นายเขียวต่อสู้อ้างว่าการกระทำของตนไม่ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล เพราะเป็นการไปพูดคุยตกลงรวมถึงโอนเงินกันที่บ้านนางแดง ตนเองไม่ได้ทำการใด ๆ ในบริเวณพื้นที่ของศาลเลย ตอนที่มีการโอนเงินให้ก็เป็นการโอนเงินนอกเวลาราชการแล้วย่อมไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนพิจารณาของศาลที่จะทำให้เป็นการละเมิดอำนาจศาลไปได้
    ในเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ หากไปดูข้อต่อสู้ของนายเขียวจะเห็นว่ามาจากบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในเรื่องละเมิดอำนาจศาลได้กล่าวไว้ในมาตรา 31(1) ว่าการกระทำที่จะถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลนั้นต้องเป็นการ “ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล” ทำให้เมื่อนายเขียวอ้างว่าเมื่อไปพูดคุยตกลงกับนางแดงที่บ้านของนางแดงในเรื่องการว่าจ้างให้มีการประกันตัวนายดำจึงไม่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยใน “บริเวณศาล” ตามที่กฎหมายกำหนด
    ในเรื่องการละเมิดอำนาจศาลนี้ กฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงห้ามไม่ให้กระทำการใด ๆ ที่ส่งผลต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณของศาล หรือทำการต่าง ๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้กระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปโดยเที่ยงธรรม และทำให้สาธารณชนคงความเชื่อมั่นศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม
    คำว่า “บริเวณศาล” จึงหมายถึงการกระทำที่ทำขึ้นในอาณาบริเวณของศาล และการกระทำอื่น ๆ ที่แม้จะไม่ได้กระทำในอาณาบริเวณของศาลแต่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับกระบวนพิจารณาที่จะกระทำขึ้นในบริเวณของศาลด้วย เพราะหากการกำหนดนี้ห้ามเฉพาะพฤติกรรมหรือการกระทำที่เกิดขึ้นทางกายภาพที่อยู่ในขอบรั้วของศาลเท่านั้นแล้ว เท่ากับว่าบุคคลต่าง ๆ สามารถกระทำการต่าง ๆ ได้ตราบเท่าที่อยู่นอกอาณาบริเวณของศาลโดยไม่ได้คำนึงว่าผลของการกระทำเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร
    หากเป็นเช่นนี้ย่อมไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งให้เกิดความสงบเรียบร้อยและความเที่ยงธรรมของกระบวนพิจารณาคดีของศาลเป็นสำคัญ สถานที่กระทำการจึงไม่ควรเป็นเส้นแบ่งขอบเขตระหว่างการกระทำที่จะเป็นการละเมิดอำนาจศาลกับไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาล แต่ควรมองไปถึงผลของการกระทำที่เกิดขึ้นด้วยว่าจะส่งผลเชื่อมโยงมายังการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลมากน้อยเพียงใดด้วย
    ในกรณีที่เกิดขึ้นจึงเห็นได้ชัดเจนว่าแม้นายเขียวจะไปพูดคุยตกลงกับนางแดงเรื่องการว่าจ้างให้มาดำเนินการเรื่องการประกันตัวโดยจะจ่ายเงินจ่ายทองให้ผู้พิพากษาด้วยจะเกิดขึ้นที่บ้านของนางแดง ไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่ของศาล แต่สิ่งที่นายเขียวไปกล่าวอ้างเป็นการกระทบโดยตรงต่อพิจารณาพิพากษาคดี โดยเฉพาะการมีคำสั่งในเรื่องการให้ประกันตัวของศาลโดยตรง การหลอกลวงดังกล่าวจึงอาจทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมโดยรวมด้วย ย่อมเข้าลักษณะการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาลได้.....
    ******* มีต่อใน comment ค่ะ ********

Комментарии • 2

  • @cojchannel2908
    @cojchannel2908  3 месяца назад +4

    การหลอกลวงในลักษณะแบบเดียวกับนายเขียวในกรณีนี้เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นและพบเห็นกันอยู่เสมอ ๆ หากมีใครมาแอบอ้างแบบนี้ก็ไม่ควรจะหลงเชื่อไปกับคำพูดและคำกล่าวอ้างแบบนี้ที่มุ่งหวังจะเรียกเงินเรียกทองเป็นประโยชน์ส่วนตัว เพราะการพิจารณาว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ของศาลย่อมเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด หากอยู่ในวิสัยที่สามารถให้ประกันตัวได้ โดยปกติศาลก็จะให้ประกันตัวอยู่แล้ว
    ดังนั้น ในกรณีที่มีการแอบอ้างเรียกเงินเรียกทองอ้างว่าจะมาจ่ายให้ผู้พิพากษาเพื่อช่วยให้ประกันตัว แม้จะไม่ได้ทำในเขตพื้นที่ของศาล แต่อาจถือว่าเป็นการ “ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล” ที่ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาลและอาจถูกลงโทษได้ตามกฎหมาย
    (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 921/2566)

  • @Waterfall34562
    @Waterfall34562 3 месяца назад +2

    ตีความครอบจักรวาลเกิ้น ถ้าเขาไปตกลงกันที่ ต่างประเทศก็คงไม่รอด😂😅😊